Office Syndrome

โรคออฟฟิศซินโดรม คืออะไร?

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) จัดอยู่ในกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) ซึ่งมักเกิดจากการที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำไปมา เป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง โดยผลของมันจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการอักเสบ ตลอดจนปวดเมื่อยตามอวัยวะส่วนอื่น ๆ ไล่ลงมาตั้งแต่คอ หลัง บ่า ไหล่ แขน หรือแม้กระทั่งบริเวณข้อมือก็ไม่เว้น ซึ่งหากผู้ที่พบว่ามีอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม แต่ไม่ทำการรักษาตัวในทันทีที่พบ อาการอาจทรุดหนักลงและลุกลามจนผู้ป่วยมีอาการปวดชนิดเรื้อรังก็เป็นได้

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

สาเหตุของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม

โดยส่วนมากอาการปวดกล้ามเนื้อจากโรคออฟฟิศซินโดรม มักพบได้บ่อยในคนทำงานออฟฟิศเป็นหลัก นั่นเพราะพฤติกรรมการทำงานที่ต้องนั่นจดจ่ออยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานจนลืมตัว โดยแทบจะไม่มีการขยับตัวปรับเปลี่ยนอิริยาบถใด ๆ หรือลุกขึ้นเดินไปไหนมาไหนเลย ซึ่งนี่เป็นผลทำให้กล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ เกิดอาการยึดเกร็งและอักเสบในเวลาต่อมา

อาการแบบไหนที่เข้าข่ายผู้ป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

  1. ปวดกล้ามเนื้อบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย เช่น ไหล่ สะบัก คอ บ่า ท้ายทอย ปวดหลังส่วนบนหรือส่วนล่าง ปวดมือ ข้อมือ ปวดข้อศอก ปวดเข่าหรือข้อเท้า ปวดสะโพกหรือต้นขา มักจะมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง ปวดร้าวไปบริเวณอื่นใกล้เคียง มีลักษณะการปวดแบบล้า  ไม่สามารถระบุอาการหรือตำแหน่งที่ชัดเจนได้ โดยจะมีอาการปวดตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึงรุนแรงและทรมานอย่างมาก
  2. มีอาการของระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ชา ปวดร้าว หรืออาจมีอาการหูอื้อ มึนงง ตาพร่ามัว ปวดไมเกรน หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  3. อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น ชาบริเวณมือและแขน และหากมีการกดทับเส้นประสาทนานเกินไปอาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย
  4. อาการทางตา เช่น ปวดตา เมื่อยล้าตา มีอาการแสบตา ระคายเคือง ตราพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ น้ำตาไหล
  5. อาการทางผิวหนัง เช่น คันตามลำตัว เป็นผดผื่น แพ้ ผิวหนังแดง
  6. อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก ไอ จาม คล้ายเป็นภูมิแพ้ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก แสบคอ คอแห้ง

  ออฟฟิศซินโดรมหากปล่อยไว้นานอาจทำให้กลายเป็นการอักเสบเรื้อรังหรือหากมีอาการรุนแรงมาก อาจทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือทำให้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้


วิธีป้องกันออฟฟิศซินโดรม

1. ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น เล่นโยคะ


การเล่นโยคะ

2. ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม ดังนี้

  • จอคอมพิวเตอร์แนวตรงกับหน้า และอยู่เหนือกว่าระดับสายตาเล็กน้อย โดยขอบบนของจอคอมพิวเตอร์อยู่ตรงกับระดับสายตา ในท่านั่งที่รู้สึกสบาย
  • จอคอมตั้งห่างกับความยาวเท่ากับความยาวแขน ซึ่งเป็นระยะที่สายตาอ่านได้สบาย
  • แป้นพิมพ์วางอยู่ในระดับศอก ทำมุม 90 องศา
  • เบาะของเก้าอี้ต่ำกว่าระดับเข่า ปรับให้มีช่องว่างระหว่างขอบเก้าอี้กับขาด้านหลัง
  • ปรับเก้าอี้ให้เท้าวางบนพื้นได้พอดี ประมาณ 90 องศา
  • ปรับพนักพิงหลังของเก้าอี้ให้รับกับหลังส่วนล่าง หากเก้าอี้ทำไม่ได้ให้ใช้หมอนหนุนหลังแทน

3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน

  • ยืดเหยียดกล้ามเนื้อระหว่างวัน
  • เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายอย่างน้อย ทุก ๆ 1 ชั่วโมง
  • พักสายตาจากจอคอมทุก ๆ 10 นาที
  • เปลี่ยนท่านั่งทำงานทุก ๆ 20 นาที
  • นั่งตัวตรง หลังชิดขอบด้านในของเก้าอี้
  • จับเม้าส์ในตำแหน่งตรง ไม่บิดหรืองอ ข้อมือขึ้นหรือลง

4. ใช้อุปกรณ์ที่ช่วยจัดท่านั่งให้ถูกต้อง และช่วยลดปัญหาสุขภาพ อย่างเช่น เบาะรองนั่งเพื่อสุขภาพ เก้าอี้เพื่อสุขภาพ เป็นต้น


4 ท่าบริหารบอกลา Office Syndrome


    การรักษากลุ่มอาการ “ออฟฟิศซินโดรม ( Office Syndrome )” นั้นมีด้วยกันหลายวิธี ทั้งการรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยยา การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำกายภาพบำบัด เพื่อยืดกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายเพื่อรักษาการปวดหลังเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย และปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทย เป็นต้น

   อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาที่ดีและเหมาะสมคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยวิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอาการจาก “Office Syndrome” ได้นั้น คือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงาน จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น ลดอาการบาดเจ็บจากการทำงานและเพิ่มคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างถาวร


   ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้แนะนำวิธีการรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม ที่ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาการปวดกล้ามเนื้อ หลังจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น


1. การยืดกล้ามเนื้อที่ถูกวิธีด้วยตัวเอง

การยืดกล้ามเนื้อ เป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะช่วยให้เอ็นข้อต่อและเส้นใยกล้ามเนื้อ ที่ได้รับการยืดเหยียดมีความยาวและมุมการเคลื่อนไหวที่ดี  ทำให้สามารถช่วยป้องกันการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อและลดการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

2. การรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด ด้วยอุปกรณ์ที่เพียบพร้อมและทันสมัย

การทำกายภาพบำบัด มีความสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะกำหนดกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

การทำกายภาพบำบัด

3. การนวดแผนไทย 

การนวด อาจกล่าวได้ว่าเป็นการรักษาอาการปวดวิธีแรกที่มนุษย์เรารู้จัดตั้งแต่โบราณกาล และเป็นวิธีทางธรรมชาติที่เกิดจากการเรียนรู้ เช่น ปวดตรงไหนก็ถู บีบนวดตรงนั้น ต่อมาจึงมีการสั่งสมประสบการณ์จนเป็นศาสตร์หนึ่งในการรักษา

การนวดแผนไทย

4. การฝังเข็ม 

การฝังเข็ม อาศัยกลไกในการยับยั้งความเจ็บปวด ช่วยให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทให้ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลางที่ระดับไขสันหลัง เพื่อช่วยระงับปวด ทำให้กล้ามเนื้อคลายจุดปวด ปรับสมดุลของอวัยวะต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพปกติ

การฝังเข็ม

5. การรับประทานยา 

การรับประทานยา เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน ดังนั้น ก่อนรับประทานยาทุกครั้ง จำเป็นต้องอ่านฉลากยาอย่างละเอียด และปฏิบัติตามฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การรับประทานยา


TOP 5 แนะนำสถานที่รักษาออฟฟิศซินโดรม ได้แก่ :

  • คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
  • ศูนย์การแพทย์แผนจีน โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น
  • โรงพยาบาลสินแพทย์
  • โรงพยาบาลหัวเฉียว
  • โรงพยาบาลบางปะกอก
5 อันดับสถานที่รักษาออฟฟิศซินโดรม



ความคิดเห็น